Breaking News

คุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับราชการ

คุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับราชการ

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนนอกจากจะมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้ว ยังจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง

 

วิธีการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการ

การสรรหาบุคคลเข้ารับราชการเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญในตำแหน่งระดับบรรจุนั้น อาจดำเนินการด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

 

การสอบแข่งขัน ซึ่งอาจรับสมัครจากบุคคลทั่วไปหรือรับสมัครเฉพาะผู้ผ่านการกลั่นกรองเบื้องต้นแล้ว ในส่วนนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับ ถ้าเราจะสอบเข้ารับราชการแน่นอนว่าเราต้องสอบผ่านกพ.มาก่อนนะครับ เมื่อผ่านแล้วในยุคนี้ก็สามารถพิมพ์ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ได้เลยโดยที่ไม่ต้องขอหนังสือรับรองเหมือนสมัยก่อนแล้วนะครับ ถือว่าเป็นยุคที่อำนวยความสะดวกให้เราเป็นอย่างมากเลยครับ

การคัดเลือก ดำเนินการในกรณีที่มีเหตุพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการสอบแข่งขัน เช่น กรณีคุณวุฒิที่หาผู้สำเร็จการศึกษาได้ยาก หรือได้รับทุนรัฐบาล เป็นต้น

 

หน่วยงานดำเนินการ

สำนักงาน ก.พ. : เป็นผู้ดำเนินการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.)

 

ส่วนราชการ : เป็นผู้ดำเนินการสรรหาและเลือกสรรผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชา และระดับ ที่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง และเป็นผู้สอบผ่านภาค ก. ของ ก.พ. ในระดับนั้น ๆ แล้ว ส่วนผู้ได้รับปริญญาเอก และมีวุฒิการศึกษา ที่ ก.พ. กำหนดเป็นวุฒิคัดเลือก ส่วนราชการจะเป็นผู้คัดเลือกเพื่อบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ โดยส่วนราชการจะเปิดรับสมัครจากผู้มีวุฒิดังกล่าว

 

การรับรองคุณวุฒิบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ และกำหนดอัตราเงินเดือนที่ควรได้รับ เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.และสำนักงาน ก.พ.ตามนัยมาตรา8(10) และมาตรา13(11) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ 2551

การรับรองคุณวุฒิของ ก.พ. จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทางราชการได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ ก.พ. กำหนด มาปฏิบัติราชการ และกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ ก.พ. จะรับรองคุณวุฒิการศึกษาในระดับต่าง ๆ ตามหลักสูตรการศึกษา ที่สถาบันการศึกษาได้จัดทำขึ้น และได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการแล้วหมายถึง ก.พ. รับรองคุณวุฒิ แต่มิได้รับรองวิทยฐานะสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

หลักเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ก.พ. จะรับรองคุณวุฒิที่ได้รับด้วยวิธีการศึกษาตามหลักสูตรเต็มเวลา (full time) จากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ให้บรรจุเข้ารับราชการได้

  • การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรวิชาชีพของสถานศึกษาภาครัฐ
  • การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรวิชาชีพของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
  • ระบบการพิจารณารับรองคุณวุฒิด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-accreditation)